ภาควิชาออร์โธปิดิกส์

ภาควิชาออร์โธปิติกส์

ประวัติและความเป็นมา

ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมใช้ชื่อว่าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ทำการสอนนิสิตแพทย์ การวิจัยและให้การบริการ รักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกข้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น กล้ามเนื้อ เอ็น และเส้นประสาทส่วนปลายรวมทั้งกระดูกสันหลัง สถานที่ทำงานแรกเริ่มตั้งอยู่ที่ตึกเจริญ-สมศรีเจริญรัชต์ภาคย์ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

        แรกเริ่มจากการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่ผู้จบหลักสูตร แพทย์ และพยาบาล ณ ศิริราชพยาบาลเมื่อปี พ.ศ. 2489 และทรงมีพระราชปรารภว่า “พระองค์ท่านต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นเพื่อให้ เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน”

 

ภาพในอดีตตึกเจริญ-สมศรี เจริญรัชต์ภาคย์
ภาพในอดีตตึกเจริญ-สมศรี เจริญรัชต์ภาคย์

        เพื่อเป็นการฉลองพระราชปรารภดังกล่าว รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้อนุมัติงบประมาณสำหรับขยายการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ จำนวนประมาณปีละ 200 คน แต่เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีสถานที่จำกัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ขึ้น และรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาดไทยซึ่งเคยเป็นโรงเรียนการแพทย์ทหารบกมาก่อน มีสถานที่และจำนวนเตียงผู้ป่วยมากพอ เหมาะสมที่จะเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์ได้ จึงมีการติดต่อระหว่างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข กับสภากาชาดไทย และตกลงในหลักการร่วมกันที่จะเปิดคณะแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แห่งนี้

       เมื่อรัฐบาลได้ทำการตกลงกับสภากาชาดไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีพระราชกฤษฎีกา ประกาศตั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 และให้บังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาอันถือว่าเป็นวันมงคลยิ่ง โดยศาสตราจารย์พลตรีพระยาดำรงแพทยาคุณ ได้รับเลือกให้เป็นคณบดีท่านแร

           คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เปิดภาคเรียนเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2490 มีภาควิชารวม 10 ภาค มีนักศึกษาปีแรก 67 คน สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในสมัยก่อตั้งภาควิชาออร์โธปิดิกส์ แต่เดิมสังกัดอยู่กับภาควิชาศัลยศาสตร์ โดยมีอาจารย์แพทย์ปฏิบัติงานด้านการสอนและรักษาพยาบาลรุ่นแรกคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เล็ก ณ นคร และ ศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสน

ศาสตราจารย์นายแพทย์ เล็ก ณ นคร
ศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสน

           ในปี พ.ศ. 2507 จึงได้รับการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยให้แยกภาควิชาออกจากภาควิชาศัลยศาสตร์ และใช้ชื่อว่าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ มีศาสตราจารย์นายแพทย์ เล็ก ณ นคร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเป็นท่านแรก มีอาจารย์ประจำในภาควิชาฯ อีก 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ สมัค พุกกะณะเสน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ สมิทธ์ สิทธิพงศ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 มีนายแพทย์วินัย พากเพียร เข้ามาเป็นอาจารย์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งท่าน ในปี พ.ศ. 2509 ก็มีนายแพทย์ตรง พันธุมโกมล เข้ามาเป็นอาจารย์อีกหนึ่งท่าน รวมเป็นคณาจารย์ในภาควิชาฯ ขณะนั้น 5 ท่าน

           ในวันที่ 1 ตุลาคม 2510 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้โอนมาสังกัดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปลี่ยนชื่อเป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           ในวันที่ 14 สิงหาคม 2523 ทางทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐก็ได้อนุมัติเปลี่ยนชื่อภาควิชาฯ ใหม่เป็นภาควิชาออร์โทปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู ต่อมาในปี พ.ศ.2540 แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูได้แยกภาคออกไปตั้งใหม่เอง ปัจจุบันภาควิชาฯ มีชื่อเป็นทางการว่าภาควิชาออร์โธปิดิกส์

           ถึงแม้ว่าจะเป็นภาควิชาและมีแพทย์ประจำภาควิชาแล้ว ในการปฏิบัติงานในระยะแรกผู้ป่วยชาย หญิงและเด็กก็ยังใช้เตียงร่วมกับภาควิชาศัลยศาสตร์ ต่อมาเมื่อภาควิชากุมารเวชศาสตร์ซึ่งมีผู้ป่วยเด็กอยู่ที่ตึกมาลินี ได้ย้ายมาตึกหลุยส์ทีเลียวโนเวนล์ ภาควิชาฯ จึงได้ใช้ตึกมาลินีบนสำหรับผู้ป่วยเด็ก และตึกมาลินีล่างสำหรับผู้ป่วยหญิงและชาย

           ต่อมาสภากาชาดไทยได้ขอบริจาคเงินจากคุณหญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ จำนวน 2 ล้านบาท และคณะแพทยศาสตร์ได้ของบประมาณแผ่นดินสมทบอีก 3 ล้านบาท รวมทั้งมีผู้บริจาคสมทบอีกจำนวนหนึ่งนำมาสร้างตึกเจริญ-สมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ ขึ้น อาคารนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จมาเปิดตึกนี้เป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2520 ตึกนี้เป็นอาคาร 7 ชั้น ชั้นล่างเป็นหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู ชั้น 2 เป็นสำนักงานของภาควิชาฯ ชั้น 3 เป็นห้องการเรียนการสอน ห้องสมุด ห้องทำงานแพทย์ ส่วนชั้น 4, 5, 6 เป็นหอผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ และสุดท้ายชั้น 7 เป็นห้องประชุมใหญ่ และห้องพักแพทย์ประจำบ้าน

  • ปี 2560 ฝ่าย/ภาควิชาออร์โธปิดิกส์  ย้ายสำนักงานชั่วคราว ณ ตึกคัคณางค์  ชั้น 8 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พระราม 4  เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 02-256 4230, 4510   โทรสาร 02-256 4625
  • ปี 2563 ฝ่าย/ภาควิชาออร์โธปิดิกส์  ย้ายมาที่ อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ (อาคารศูนย์ความก้าวหน้าทางวิชาการ) ชั้น 11, 12   โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย / คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พระราม 4  เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 … ติดต่อสอบถาม
อาคารรัตนวิทยาพัฒน์
อาคารรัตนวิทยาพัฒน์
  •  ตุลาคม 2564 :: ติดป้ายภาควิชาออร์โธปิดิกส์

หัวหน้าภาควิชาที่ทำหน้าที่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันได้แก่  

 

1.ศ.น.พ. เล็ก ณ นครพ.ศ. 2507 – 2511
2.ศ.นพ. สมัค พุกกะณะเสนพ.ศ. 2511 – 2523
3.ผศ.นพ. สมิทธ์ สิทธิพงศ์พ.ศ. 2523 – 2527
4.รศ.นพ. ตรง พันธุมโกมลพ.ศ. 2527 – 2531
5.รศ.นพ. วินัย พากเพียรพ.ศ. 2531 – 2535
6.รศ.นพ. ชายธวัช งามอุโฆษพ.ศ. 2535 – 2543
7.ศ.นพ. พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์พ.ศ. 2543 – 2549
8.ศ.นพ. ประกิต เทียนบุญพ.ศ. 2549 – 2553
9.รศ.นพ. ยงศักดิ์ หวังรุ่งทรัพย์พ.ศ. 2553 – 2557
10.ศ.นพ.อารี  ตนาวลีพ.ศ. 2557 – 2561
11.ศ.นพ.สมศักดิ์  คุปต์นิรัติศัยกุลพ.ศ. 2561 – 2564
12.ศ.นพ.วิชาญ  ยิ่งศักดิ์มงคลพ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน

ทำเนียบหัวหน้าภาควิชา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.นพ.เล็ก ณ นคร

พ.ศ. 2507 - 2511

ศ.นพ.สมัค พุกกะณะเสน

พ.ศ. 2511 - 2523

ผศ.นพ.สมิทธิ์ สิทธิพงศ์

พ.ศ. 2523 - 2527

รศ.นพ.ตรง พันธุมโกมล

พ.ศ. 2527 - 2531

รศ.นพ.วินัย พากเพียร

พ.ศ. 2531 - 2535

รศ.นพ.ชายธวัช งามอุโฆษ

พ.ศ. 2535 - 2543

ศ.นพ.พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์

พ.ศ. 2543- 2549

ศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ

พ.ศ. 2549 - 2553

รศ.นพ.ยงศักดิ์ หวังรุ่งทรัพย์

พ.ศ. 2553 - 2557

ศ.นพ.อารี ตนาวลี

พ.ศ. 2557 - 2561

ศ.นพ.สมศักดิ์ คุปต์นิรัติศัยกุล

พ.ศ. 2561 - 2564

ศ.นพ.วิชาญ ยิ่งศักดิ์มงคล

พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน