โรคนิ้วล็อค โดย อ.นพ.กวี ภัทราดูลย์

โรคนิ้วล็อค โดย อ.นพ.กวี ภัทราดูลย์

โรคนิ้วล็อค

อ.นพ.กวี ภัทราดูลย์

         โรคนิ้วล็อค ภาวะนิ้วล็อค  หรือ ภาวะปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ (Trigger finger & Trigger thumb) เป็นภาวะที่มีสาเหตุเกิดจากการหนาตัวขึ้น ปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ (A1-pulley) ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นนี้ด้วยความยากลำบาก มีการเสียดสีทำให้เกิดอาการปวด หรือติดล็อคได้

         โรคนี้พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอายุที่พบบ่อยอยู่ประมาณ 40-50 ปี โดยมากจะเกิดกับผู้ที่ใช้งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อย ๆ เช่น การทำงานบ้านต่าง ๆ การบิดผ้า การหิ้ว ของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า การยกของหนักต่าง ๆ เป็นต้น อาการของโรคนี้แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ  

        1. ระยะแรกมีอาการปวดเป็นอาการหลัก โดยจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ จะมีอาการปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด
        2. ระยะที่สอง มีอาการสะดุด (triggering) เป็นอาการหลัก แต่อาการปวดก็มักจะเพิ่มมากขึ้นด้วย เวลาขยับนิ้วงอและเหยียดนิ้ว จะมีการสะดุดจนรู้สึกได้
        3. ระยะที่สาม มีอาการติดล็อคเป็นอาการหลัก โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยแกะ หรือ อาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง
        4. ระยะที่สี่ มีการอักเสบบวมมาก จนนิ้วบวมติดอยู่ในท่างอเล็กน้อย ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถ้าใช้มือมาช่วยเหยียดจะปวดมาก
                       

สำหรับวิธีการรักษาโรคนี้ ประกอบไปด้วย
         1. การใช้ยารับประทาน เพื่อลดการอักเสบ ลดบวม และลดอาการปวด ร่วมกับพักการใช้มือ

         2. การใช้วิธีทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การใช้เครื่องดามนิ้วมือ การนวดเบา ๆ การใช้ความร้อนประคบ และ การออกกำลังกายเหยียดนิ้ว โดยการรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด อาจใช้ร่วมกันได้ และมักใช้ได้ผลดีเมื่อมีอาการของโรคในระยะแรก และระยะที่สอง

         3. การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบ ลดปวดและลดบวม เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ส่วนมากมักจะหายเจ็บบางรายอาการติดสะดุดจะดีขึ้น แต่การฉีดยามักถือว่าเป็นการรักษาแบบชั่วคราว และข้อจำกัดก็คือ ไม่ควรฉีดยาเกิด 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็นโรค การรักษาโดยการฉีดยานี้สามารถใช้ได้กับอาการของโรคตั้งแต่ระยะแรกจนถึงระยะท้าย                                    

         4. การรักษาโดยการผ่าตัด ถือว่าเป็นการรักษาดีที่สุดในแง่ที่จะไม่ทำให้กลับมาเป็นโรคอีก หลักในการผ่าตัด คือ ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัดหรือสะดุดอีก โดยการผ่าตัดแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิด เป็นวิธีมาตรฐาน ที่ควรทำในห้องผ่าตัด โดยฉีดยาชาเฉพาะที่ผ่าตัดเสร็จก็กลับบ้านได้ หลังผ่าตัดหลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก และการสัมผัสนิ้ว ประมาณ 2 สัปดาห์(ดังรูป) อีกวิธีเป็นการผ่าตัดแบบปิด โดยการใช้เข็มเขี่ยหรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออก โดยแทบไม่มีแผลให้เห็น โดยวิธีนี้อาจมีผลแทรกซ้อน ได้ถ้าไปเขี่ยหรือสะกิดถูกเส้นประสาท ดังนั้น จึงไม่แนะนำสำหรับนิ้วที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทสูง คือ นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ และการผ่าตัดแบบปิดนี้ใช้ได้สำหรับคนไข้ที่มีอาการของโรคตั้งแต่ระยะที่สองขึ้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง