การหักของกระดูกส่วนปลายของต้นแขน เกิดได้จากการล้มศอกกระแทกพื้นโดยตรง ซึ่งรูปแบบการหักนั้นมีหลายรูปแบบดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 แสดงการหักของกระดูกต้นแขนส่วนปลายหลายรูปแบบ
อาการแสดง
หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปวด และผิดรูปที่บริเวณข้อศอก
ภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้และมีความเร่งด่วนในการรักษามากกว่าปกติคือการที่กระดูกหักและมีแผลเปิดร่วมด้วย ไม่ว่าแผลนั้นจะมีขนาดเล็กเท่าใด หากแผลนั้นมีช่องทางติดต่อสู่กระดูกหักภายในจำเป็นจะต้องถึงมือแพทย์ออร์โธปิดิกส์อย่างเร่งด่วนเพื่อทำการผ่าตัดล้างและซ่อมแซมกระดูก มิฉะนั้นโอกาสติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นสูงมากและได้รับผลการรักษาไม่ดี
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ควรทำให้บริเวณที่กระดูกหักอยู่นิ่งกับที่เพื่อลดอาการเจ็บปวด และลดการทำลายของเนื้อเยื่อโดยรอบเพิ่มเติมจากคมกระดูกที่หัก วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการใช้ผ้าคล้องแขนไว้กับคอหรือใช้แผ่นไม้ที่มีความยาวตั้งแต่ใต้รักแร้จนถึงข้อมือแล้วพันด้วยผ้าไว้กับแขนเพื่อป้องกันการขยับของข้อศอก ไม่จำเป็นต้องพันให้รุนแรงนักเพราะอาจทำให้กดเลือดที่จะไปเลี้ยงปลายแขน ให้พันแต่เพียงกระชับพอให้ข้อศอกอยู่นิ่งกับที่ในท่าที่ผู้ป่วยรู้สึกสบายที่สุดเท่านั้น และนำผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ
หากกระดูกหักมีแผลเปิด ไม่ควรพยายามล้างด้วยตัวเอง ให้หยิบเศษสิ่งแปลกปลอมชิ้นใหญ่ที่ติดภายรอบนอกแผลออกเท่านั้น ไม่ต้องพยายามล้วงลึกเข้าไปในแผล ปิดปากแผลด้วยผ้ากอซสะอาดแล้วพันด้วยผ้า จากนั้นจึงดามข้อศอกให้อยู่นิ่งตามที่ได้อธิบายข้างต้น
ที่โรงพยาบาล
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อประเมินการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อโดยรอบซึ่งส่วนที่สำคัญได้แก่เส้นประสาทและเส้นเลือดและตรวจบริเวณที่บาดเจ็บด้วยรังสีเอกซ์เรย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
วิธีการรักษา
เกือบทุกรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ยกเว้นกรณีที่กระดูกหักและไม่มีการเคลื่อนออกจากที่หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือมีสภาพร่างกายที่ไม่สามารถทนทานการดมยาสลบและการผ่าตัดได้เท่านั้น เนื่องจากการหักชนิดนี้เป็นการหักเข้าไปในข้อศอก หากไม่ผ่าตัดจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่จะทำให้มีโอกาสเกิดข้อศอกเสื่อมในภายหลังได้
การผ่าตัดจัดเป็นการผ่าตัดขนาดกลางถึงใหญ่ขึ้นอยู่กับลักษณะของกระดูกที่หัก ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการดมยาสลบและผ่าตัดเปิดผิวหนังเพื่อจัดเรียงกระดูกรวมทั้งยึดกระดูกด้วยแผ่นโลหะยึดกระดูกและสกรู ระยะเวลาผ่าตัดโดยประมาณ 2-3 ชั่วโมง
หลังผ่าตัดอาจต้องใส่เฝือกอ่อน, เฝือก หรือไม่ต้องใส่สิ่งใดเพื่อดามแขนเพิ่มเติมเลยขึ้นอยู่กับลักษณะของกระดูกที่หักหรือความแข็งแรงที่แพทย์ได้จากการผ่าตัดยึดกระดูก
กายภาพบำบัด
หากการยึดกระดูกทำได้มั่นคงแข็งแรงเพียงพอ สามารถฝึกขยับเคลื่อนไหวข้อศอกได้เลย หากมีลักษณะกระดูกที่หักรุนแรงและการยึดตรึงกระดูกไม่แข็งแรงเพียงพอ มีความจำเป็นต้องใส่เฝือกหรืออุปกรณ์ที่ช่วยลดการขยับของข้อศอกไว้ชั่วระยะหนึ่ง (2-6 สัปดาห์) ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ก่อนจะเริ่มทำกายภาพบำบัดได้
อาการไม่พึงประสงค์
– ข้อศอกเสื่อม
– การบาดเจ็บของเส้นประสาทบริเวณศอกจากแรงกระทำขณะเกิดอุบัติเหตุหรือหลังผ่าตัด
– ข้อศอกติด
– ติดเชื้อ